รูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนา |
|
Untitled Document
|
เนคเทคมีกลไกในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภาคเอกชนและภาครัฐอื่นๆ
ดังนี้
ด้านการวิจัยและพัฒนา เนคเทคได้มีการดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อ
ถ่ายทอดเทคโนโลยีและผลงานจากการวิจัยและพัฒนาทางด้าน ECTI ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้คือ
การอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) เนคเทคได้มีนโยบายในการอนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐ
หรือเอกชนสามารถใช้สิทธิในต้นแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ต่างๆ
ของ เนคเทค เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆเหล่านั้นสามารถนำไปทำการผลิต วิจัย ทดสอบ
หรือพัฒนาเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ โครงการที่เนคเทคอนุญาตให้บริษัทเอกชนใช้สิทธิ
ได้แก่
- การอนุญาตให้บริษัทสมาร์ท โมบิลิตี้ ใช้สิทธิในระบบขับเคลื่อนดีซีมอเตอร์สำหรับรถไฟฟ้าขนาดเล็ก
- การอนุญาตให้บริษัทซีดีจี ซิสเต็มส์ ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัดคำและกำกับหน้าที่คำภาษาไทย
- การอนุญาตให้บริษัทดุสิตเมด ใช้สิทธิในต้นแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ เพื่อการผลิตและจำหน่าย
กล่าวคือ ต้นแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ปราศรัย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ภาพคำศัพท์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์รังสรรค์ภาพ
และโปรแกรมคอมพิวเตอร์สื่อช่วยสอนพัฒนาการของเด็กทารก
การรับจ้างวิจัยและพัฒนา (Contracted Research) เนคเทคเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทางด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี
ECTI ตลอดจนมีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการวิจัยและพัฒนา จากความสามารถดังกล่าว
เนคเทคได้มีการรับจ้างหน่วยงานทั้งที่เป็นภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาทางด้าน
ECTI โดยทั้งนี้ในเรื่องกรรมสิทธิ หรือผลงานที่ได้รับนั้น จะเป็นการตกลงระหว่างทั้งสองฝ่ายคือผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง
(เนคเทค) ตัวอย่างโครงการที่เนคเทคได้รับจ้างวิจัยและพัฒนา ได้แก่
- การรับจ้างบริษัทวิเชียรไดนามิคอินดัสตรี ในการวิจัยและพัฒนาวงจรควบคุมการจ่ายพลังงานให้กับหลอด
LED ที่ใช้ในรถยนต์
- การรับจ้างบริษัทเกรทเทสท์โกลด์ แอนด์ รีไฟเนอรี ในการวิจัยและพัฒนาแม่พิมพ์ฮอโลแกรมบนแผ่นนิเกิลเพื่อทำเป็นเครื่องประดับทองคำ
- การรับจ้างกรมควบคุมมลพิษ ในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม
การร่วมวิจัย (Joint Research) เนคเทคได้มีความร่วมมือกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีความรู้
และความสามารถสูงทางด้านเทคโนโลยี เพื่อร่วมกันดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะ
นำไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป ทั้งนี้ การร่วมวิจัยดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ในลักษณะของการร่วมลงทุนในรูปแบบของเงินทุน
บุคลากร และ/หรือเทคโนโลยีการวิจัย ตัวอย่างโครงการที่เนคเทคได้ร่วมวิจัยกับหน่วยงานอื่นๆ
ได้แก่
- การร่วมวิจัยกับบริษัท โอกาโมโต (ไทย) ในโครงการจัดทำเครื่องเจียรนัย ๒ แกนควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์
- การร่วมวิจัยกับมูลนิธิคนพิการไทย ในโครงการจัดทำเก้าอี้ล้อเลื่อนไฟฟ้าสำหรับคนพิการ
การร่วมวิจัยกับบริษัทออริซอล อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ในโครงการจัดสร้าง
ต้นแบบเครื่องจักรเย็บรองเท้าอัตโนมัติควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์
การร่วมทุน (Joint Ventures) เนคเทคได้มีการร่วมลงทุนกับหน่วยงานอื่นๆ
ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้ทางด้านการตลาดสูง
แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูงหรือต้องใช้เงินลงทุนสูงด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น
การร่วมทุนเพื่อจัดตั้งบริษัท อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
ด้านการให้บริการทางด้านที่ปรึกษา การฝึกอบรมด้านเทคนิค และการทดสอบผลิตภัณฑ์
(Consulting, Technical Training and Testing) เนคเทคได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ
ทั้งในภาครัฐและเอกชนในการให้บริการต่างๆ ดังนี้คือ
การให้บริการทางด้านที่ปรึกษาแก่หน่วยงานต่างๆ ได้แก่
- บริษัทโมลด์เมท ในโครงการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลเครื่องอัดไฮดรอลิกขึ้นรูปยางล้อแบบตัน
- บริษัทวิเชียรไดนามิคอินดัสตรี ในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต
ต้นแบบดวงไฟและกระจกรถยนต์
- กองหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศ ในโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบการผลิตหนังสือเดินทาง
- บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ในโครงการวิจัยและร่วมพัฒนาการเชื่อมต่อสัญญาณเสียง
- การสื่อสารแห่งประเทศไทย ในโครงการที่ปรึกษาด้านเทคนิคสำหรับโครงการระบบเคาน์เตอร์ไปรษณีย์อัตโนมัติ
-สำนักงานสภามั่นคงแห่งชาติ ในโครงการการพัฒนาระบบสารสนเทศในการจัดทำโปรแกรมระบบงาน
การให้บริการการฝึกอบรมทางเทคนิคแก่หน่วยงานต่างๆ ได้แก่
- บ.ฟาบริเนท ในโครงการว่าจ้างดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตรความรู้พื้นฐานทางด้าน
โฟโตนิกส์
การให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ทางด้านเทคโนโลยี ECTI แก่หน่วยงานต่างๆ
ทั่วไป โดยการที่เนคเทคจัดตั้งศูนย์วิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
เพื่อ ดำเนินการด้านนี้
การจัดตั้งกลุ่มเวทีอุตสาหกรรม
(Industry Forum) เนคเทคได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มเวทีอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยี
ECTI เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ
อุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถพัฒนาการผลิตและยกระดับขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของตนเอง
ให้สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้เวทีอุตสาหกรรมยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานด้านข้อมูล
และข่าวสารระหว่างกลุ่มสมาชิก ทางด้านอุตสาหกรรม ECTI อีกทางหนึ่งด้วย
กลุ่มอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น ได้แก่
- กลุ่มผู้ผลิต/ประกอบคอมพิวเตอร์
- กลุ่มผู้ผลิต PABX
- กลุ่มผู้ผลิตและประกอบแผ่นวงจรพิมพ์
- กลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์เพื่อคนพิการ
- กลุ่มอุปกรณ์การแพทย์
- กลุ่ม IMT 2000 (โทรคมนาคมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 3G)
- กลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีแสง
- กลุ่มผู้ผลิต Power Supply
- กลุ่มความร่วมมือ TR Labs
- กลุ่มผู้ผลิต/จำหน่าย Access Monitoring System
การจัดทำโครงการพิเศษ Technology Challenge Program เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อรองรับโจทย์
ที่เกิดจากความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อันเป็นผลที่ได้รับจากการประชุมเวทีอุตสาหกรรม
(Industry Forum) โดยที่นักวิจัยของเนคเทคจะรับโจทย์ดังกล่าวไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิค
ในขณะเดียวกันนั้น ฝ่ายพัฒนาธุรกิจของเนคเทคจะพิจารณาความเป็นไปได้ทางการตลาด
และจัดทำขึ้นเป็นโครงการที่มีลักษณะที่ใช้ระยะเวลาสั้นและค่าใช้จ่ายต่ำในการพัฒนาเทคโนโลยี
เพื่อให้ได้รับ ต้นแบบระดับอุตสาหกรรมซึ่งจะต้องมีความเป็นไปได้ทางการตลาดสูง
ในปี ๒๕๔๕ เนคเทคได้จัดทำ โครงการพิเศษดังกล่าวนี้รวมทั้งสิ้น ๖ โครงการ และขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการยื่นขออนุสิทธิบัตร
๕ โครงการและขอสิทธิบัตร ๑ โครงการ
|
|