ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC หรือเนคเทค)
ก่อตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2529 โดยในระยะเริ่มต้นมีสถานะเป็นโครงการภายใต้ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน (ชื่อในขณะนั้น)
ต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม 2534 เนคเทคได้เปลี่ยนแปลง สถานะเป็นศูนย์แห่งชาติเฉพาะทาง
และเปลี่ยนการจัดรูปแบบองค์กรใหม่ เพื่อให้มีความคล่องตัวขึ้นกว่าเดิม
ตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี พ.ศ. 2534
พ.ร.บ. ฉบับนี้ก่อให้เกิดการรวมตัวกันขององค์กรต่างๆ 4 องค์กรต่างๆ 4
องค์กรที่มีอยู่ขณะนั้นคือ คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science
and Technology Development Board : STDB หรือ กพวท.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ขึ้นเป็น
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(National Science and Technology Development Agency : NSTDA หรือ สวทช.อยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
สวทช. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ มีระบบการบริหารและนโยบายที่กำหนดโดยคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(กวทช.) ซึ่ง คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในภาครัฐบาล และภาคเอกชนฝ่ายละเท่าๆ
กัน มีคณะกรรมการบริหาร ซึ่งมีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับ กวทช. คือ มีกรรมการ
จากภาครัฐและภาคเอกชนอย่างละประมาณฝ่ายละเท่าๆ กัน และมีผู้อำนวยการ
กวทช. เป็นประธานเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ในการกำหนดนโยบาย
ทิศทางการพัฒนาการให้บริการทางเทคนิค และการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐ
และเอกชน
ภารกิจหลักของเนคเทค ได้แก่การให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในภาครัฐ การดำเนินการวิจัยเอง
เพื่อเร่งให้ผลงานวิจัยเกิดผลจริงในภาคอุตสาหกรรม การให้บริการเพื่อสร้าง
ความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม
และสารสนเทศ และการทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ
ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา เนคเทคได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ให้ดำเนินโครงการเครือข่ายกาญจนาภิเษก เพื่อกระจายความรู้
แก่ประชาชน และเป็นสำนักงานเลขานุการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ
เพื่อประยุกต์ใช้ไอทีกับสังคมไทย โดยเน้นนักเรียนในชนบท ผู้พิการ และเด็กที่ป่วยในโรงพยาบาล
เนคเทคได้ดำเนินงานโครงการที่จัดได้ว่าเป็นโครงการสร้างพื้นฐานระดับชาติหลายโครงการ
เช่น เครือข่ายไทยสารอินเทอร์เน็ต เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย
เครือข่ายกาญจนาภิเษก เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
(ซอฟต์แวร์พาร์ค) ศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Commerce
Resource Center) การพัฒนากฏหมาย เทคโนโลยีสารสนเทศ การเป็นศูนย์กลางประสานงานในการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี
ค.ศ. 2000 และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) |
|