เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนในระดับนักเรียน
นิสิต นักศึกษา เกิดความสนใจในวิทยาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เนคเทคได้ริเริ่มโครงการต่างๆ
เพื่อเป็นการพัฒนาและสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ดังนี้คือ
โครงการแข่งขันการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย
(The National Software Contest: NSC) เนคเทคเริ่มจัดทำโครงการนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี
พ.ศ.๒๕๓๗ ภายใต้ชื่อโครงการ "การสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดเล็ก"
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้มีโอกาสพัฒนาทักษะทางด้านการพัฒนาคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์
และนำเอาความรู้มาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานอันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่
นักวิจัยระดับอาชีพต่อไป โดย ทั้งนี้เนคเทคจะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาดังกล่าว
และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เนคเทคได้กำหนดกลยุทธ์ในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาซอฟต์แวร์
โดยกำหนดเป็นหัวข้อย่อยในการสนับสนุน และจัดให้มีการประกวดชิงเงินรางวัล
ซึ่งนับว่าเป็น ก้าวแรกในการส่งเสริม ให้มีเวทีการแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ขึ้นในประเทศไทย
และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โครงการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย
(The National Software Contest: NSC)" ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เนคเทคได้จัดให้มีโครงการแข่งขันการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย
โดยทั้งนี้เป็นการสนับสนุนโครงการ ในระดับนักเรียนและนักศึกษาจากทั่วประเทศ
ซึ่งมีผู้ส่งโครงการเข้าร่วมแข่งขันจำนวนทั้งสิ้น ๖๖๗ โครงการ และคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกเข้าแข่งขันในรอบสุดท้ายเป็นจำนวน
๙๐ โครงการ สำหรับการตัดสินนั้น แยกออกเป็นทั้งหมด ๑๐ ประเภท โดยแต่ละประเภทจะมีรางวัลชนะเลิศลำดับที่หนึ่ง
สอง และสาม และรางวัลชมเชยอีก ๒ รางวัล รวมเป็นรางวัลทั้งสิ้นจำนวน ๕๐
รางวัล
โครงการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมศาสตร์
(Young Scientist Competition in Computer Science and Engineering
Project- YSC.CS & YSC.EN) เป็นความร่วมมือระหว่างเนคเทค บริษัท อินเทล
ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้มีโอกาสแสดงความสามารถ
ทางด้านคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ในระดับประเทศเพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขัน
Intel Internation Science and Engineering Fair ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นการจัดประกวดผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ในปี พ.ศ.
๒๕๔๔-๔๕ ได้มีนักเรียนส่งโครงงานเข้าแข่งขันรวมทั้งสิ้น ๖๐ โครงงาน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงงานเข้ารอบสุดท้ายจำนวนทั้งสิ้น
๒๘ โครงการ และมีโครงงานที่ได้รับรางวัล มีทั้งสิ้นรวม ๖ รางวัล (คือรางวัลที่หนึ่ง
สอง และ สาม ในแต่ละสาขา)
โครงการค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์
(NECTEC e-Camp) เนคเทคได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย ทั่วประเทศรวม
๑๕ แห่ง และคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ จัดทำโครงการค่ายนัก-อิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์
(NECTEC e-Camp) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านการ
- ออกแบบและการประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีพื้นฐานของวงจรอิเล็กทรอนิกส์และการออกแบบ
ตลอดจนเทคนิคการประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง
จากการจัดค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ ในเดือนตุลาคม ๒๕๔๔ มีจำนวนนักเรียนเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศจำนวน
๙๙๔ คน และครู ๒๒๘ คน รวมทั้งได้มีการจัดทำหลักสูตรด้านอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ
นักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ (NECTEC e-Camp) อีกด้วย สำหรับในปี ๒๕๔๕
นี้ โครงการค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ นี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย
จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน ๑.๔๕ ล้านบาท รวมทั้งได้รับความร่วมมือ จากสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ
ในจัดทำหลักสูตรการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอีกด้วย
โครงการการแข่งขันเลือกซื้อและประกอบคอมพิวเตอร์
(ComKit) เนคเทคได้จัดทำโครงการ แข่งขันการเลือกซื้อ และประกอบคอมพิวเตอร์
(ComKit) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้มี การเรียนรู้ที่จะเลือกซื้อชิ้นส่วนและประกอบคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง
กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือ นักเรียนทั่วประเทศในชั้นการศึกษาไม่เกินชั้นมัธยมศึกษาปีที่
๔ หรือ ปวช. ปี ๑ หรือเทียบเท่า โดย รูปแบบการแข่งขันจะเป็นการสอบข้อเขียน
การแข่งขันปฏิบัติจริงในการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์และ ติดตั้งซอฟต์แวร์
และการเลือกซื้อชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ สำหรับในปี ๒๕๔๕ เนคเทคได้จัดให้มีโครงการแข่งขันเลือกซื้อและประกอบคอมพิวเตอร์
(Comkit) ทั่วประเทศและคัดเลือกตัวแทนจากภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่จะแข่งขันในรอบสุดท้าย
เป็นจำนวน ๒๐ คน
โครงการประกวดคอมพิวเตอร์ล่องหน ครั้งที่ ๑ (Embedded System Contest)
เนคเทคร่วมกับสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (Thai Embedded Systems Association)
ได้จัดการประกวดพัฒนาคอมพิวเตอร์ล่องหน (Embedded Systems) สำหรับนักเรียน
นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยมี วัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ฝังตัวในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
อันจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่อไป
การสร้างทักษะทางด้านการวิจัยของนักศึกษาฝึกงาน เนคเทคได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริม
และพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ โดยได้จัดทำโครงการนักศึกษาฝึกงานภาคฤดูร้อน
ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ในการรับนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ
เข้ามา ฝึกงานที่เนคเทค ซึ่งนอกจากจะเป็นการฝึกทักษะความรู้ ความชำนาญทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์แล้ว
ยังเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ ในการปฏิบัติงานจริงให้แก่นักศึกษาก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา
โครงการนี้ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาทุกปี (ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม)
โดยในระยะแรกนั้น การรับนักศึกษาฝึกงานจะเน้นรับเฉพาะนักศึกษาในสาขาวิศวกรรม-ศาสตร์
และวิทยาศาสตร์ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นมา เนคเทคมีภารกิจการดำเนินงาน
ตามแผนแม่บทเชิงกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี ECTI ระยะ ๑๐ ปี จึงทำให้เนคเทคขยายการดำเนินงานโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อน
เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ได้เน้นรับเฉพาะสาขาวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น
แต่ยังรวมถึงสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาสังคมศาสตร์ และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจขององค์กร
และได้การขยายการเปิดรับนักศึกษาฝึกงานในช่วงระหว่างปีการศึกษาเพิ่มเติมขึ้น
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ต้องการฝึกงานหาประสบการณ์แต่ไม่สามารถ
เข้าฝึกงานในช่วงภาคฤดูร้อน ได้มีโอกาสเข้าฝึกงานกับเนคเทคตามที่ต้องการอีกด้วย
|
|